เทคนิคการท่องศัพท์

ในทุกภาษา คนที่พูดได้เก่งและพูดได้มาก คือคนที่รู้คำศัพท์เยอะ การใช้ไวยากรณ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากว่าคุณอยากจะพูดคุย การรู้ศัพท์ในวงกว้างจะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องราวที่ผู้อื่นพูด และสนทนา โต้ตอบกลับไปได้ โดยยิ่งถ้าคุณมีความรู้ในหลักภาษาร่วมไปด้วย คุณก็จะพูดได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำ ให้เจ้าของภาษางง แต่การจะรู้ศัพท์มากๆ คุณต้องท่องคำศัพท์ หรือมีคำศัพท์ผ่านตามามากเพียงพอ ไม่มีวิธีการไหน ทำให้คุณพูดได้ขึ้นมาโดยไม่สร้างคลังคำศัพท์เก็บไว้ในหัว แต่การท่องศัพท์ที่ดีและได้ปริมาณมาก จำได้แม่นยำพร้อมจะดึงออกมาใช้นั้นต้องมีเทคนิค เราจึงไม่แนะนำให้คุณเปิดพจนานุกรม แล้ว ท่องปาวๆ ตั้งแต่ตัว A ถึง Z แต่คุณควรจะได้ใช้เวลาน้อยแต่ได้จำนวนศัพท์มาก และสามรถจะพูด คุยเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ก่อน

เทคนิคการท่องศัพท์ที่ดี แต่ละคนย่อมมีวิธีการของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามก่อนจะค้นพบได้ว่าวิธี ไหนเหมาะกับคุณ เราก็มีตัวอย่างมาแนะนำกัน ครูดัชต์ท่านนึงเคยบอกผู้เขียนว่าการจะจำศัพท์ได้ เธอต้องเห็นมันผ่านตาไปไม่น้อยกว่าสิบหกครั้ง หลายท่านก็แนะนำไว้ว่าการจะจำได้ขึ้นใจควรจะ จำไปทีเดียวเป็นกลุ่มๆหรือเปรียบเทียบกับคำอื่น แต่ละท่านก็มีวิธีการหลากหลายมาแนะนำนัก เรียนต่างชาติกัน แต่วิธีที่ลี่รวบรวมมานี้ ได้มาจากการเรียนภาษาของคนไทย ในเนเธอร์แลนด์โดย ตรง ลองนำไปใช้ดูนะคะว่าวิธีไหนจะเหมาะกับคุณที่สุด

แปะกระดาษกาว post it :

วิธีนี้เหมาะสำหรับศัพท์ที่เป็นสิ่งของภายในบ้าน สำนักงาน หรือร้านค้า คุณเขียนคำ ศัพท์บนกระดาษกาวโพสต์อิท (จะใช้ยี่ห้ออื่นก็ไม่ว่ากันนะคะ) แล้วติด ไว้ที่สิ่งของนั้นๆ การเขียน ศัพท์ที่ดี ควรจะมีคำนำหน้านามติดไปด้วย คุณอาจสร้างระบบของ ตัวเองเช่น ถ้าเป็นศัพท์ที่ใช้ de ก็ไม่เขียนอะไร ถ้าเป็น het จึงจะเขียนคำนำหน้าไว้ แบบนี้ก็ สะดวกในการจำ เมื่อคุณจำศัพท์เหล่านั้น ได้แล้ว ก็ค่อยดึง post it ออก

ท่องจำเป็นหมวดๆ :

โดยเลือกหมวดที่คุณสนใจเรียนไปพร้อมๆกันโดยทำรายการคำศัพท์ไว้ เช่น หมวดเครื่องใช้ในครัว หมวดสัตว์ หมวดสถานที่ หมวดตัวเลข ท่องไปทีละชุดทีละหมวด เมื่อมี โอกาสก็พยายามหาเวบไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ มาหัดอ่าน เพื่อให้คำศัพท์ที่เรียนมาแล้วของ คุณได้ถูกนำมาใช้ผ่านตาให้บ่อยขึ้น

ท่องโดยอิงการเปรียบเทียบ :

ถ้าคุณเรียนอังกฤษมา ให้เลือกท่องศัพท์ที่ดูจากการเขียนแล้ว คล้ายภาษาอังกฤษก่อน เช่นคำว่า
de democratie เด่อะ เดโมกราซี่ - ประชาธิปไตย democracy
illegaal อิลเลคาล - ผิดกฏหมาย illegal
het station เห็ท สตาชน - สถานีรถไฟ station
de prijs เด่อะ เพริ้ยส์ - ราคา price
de pen เด่อะ เพ็น - ปากกา pen
การเรียนคำที่เหมือนภาษาที่คุณเคยเรียนมาก่อนนี้ จะทำให้ไม่ลืม และไม่สับสนกันอีกเลย

ใครที่เรียนฝรั่งเศสมาก่อนก็ลองเลือกท่องคำที่เหมือนฝรั่งเศสก่อนซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคำยืม leenwoord (เลนโหวร์ด) นั่นเอง เช่น
het bureau เห็ท บือโร - สำนักงาน
het plateau เห็ท ปลาโต้ - ที่ราบสูง
de chauffeur เด่อะ โชเฟอร์ - คนขับรถ
het plafond เห็ท ปลาฟนท์ - เพดาน
het café เห็ท คาเฟ่ - ร้านกาแฟ
de aupair เด่อะ โอแปร์ - คนเลี้ยงเด็กและดูแลบ้าน
de jus d’orange เด่อะ ชึส ดอร้องเช่อะ - น้ำส้มคั้น
de paraplu เด่อะ ปาราปลึ - ร่ม
het pardon เห็ท ปาร์ด๊น - การขอโทษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียนภาษาเยอรมันมา จะว่าโชคดีก็ไม่เชิง หลายๆคน มีความเห็นว่า มัน กลับทำให้การเรียนดัชต์ยิ่งสับสนเข้าไปอีก เพราะมันคล้ายคลึงกันมาก คำยืมจากภาษาเยอรมัน มีใช้อยู่บ้าง เช่น
de ober เด่อะ โอเบ้อ - เด็กเสิร์ฟ
de schmink เด่อะ ชมิงก์ - สีสำหรับทาหน้าและผิว
de glühwein เด่อะ กลึเวิยน์ - ไวน์ดึ่มร้อนสำหรับเทศกาลคริสมาสต์
de kitsch เด่อะ คิทช์ - งานประดิษฐ์

อย่างไรก็ตามในภาษาดัชต์นั้นก็มีคำยืมจากทั้งสามภาษานี้อยู่มากมายทีเดียว หากคุณได้เลือก ท่องศัพท์ที่อ้างอิงพื้นฐานภาษาเดิม การมาเริ่มเรียนคำศัพท์ของภาษาใหม่ คุณก็จะมีคำศัพท์ที่ คล้ายกัน เก็บไว้ในระบบ เมื่อจะใช้ขึ้นมาก็สามารถดึงออกมาจากความจำได้ง่าย

ท่องโดยไปในรากศัพท์เดียวกัน :

คำส่วนมากจะมีรากศัพท์เดิมอยู่ เมื่อคุณรู้รากศัพท์แล้ว จำพวกที่เขียนเหมือนกัน ไปด้วยกันในคราวเดียวจะง่ายกว่า เช่น
last ลัสท์ - ความลำบาก เจ็บปวด
overlast โอเฟ่อร์ลัสต์ - ปัญหา
lastig ลั้สถึค - ลำบาก (adj)
ontlasting อ้นท์ลัสติ้ง - การถ่ายหนัก, อุจจาระ
belasting เบ่อะลัสติ้ง - ภาษี
belastingdienst เบอะลัสติ้งดี๊นส์ท์ - สรรพากร
อีกหนึ่งตัวอย่าง
maken ม๊ากเกิ้น - กริยาทำ
makkelijk มักเค่อะหลึก - ง่าย
gemakkelijk เค่อะมักเค่อะหลึก - สะดวก ง่ายดาย
vermakelijk เฟอร์มักเค่อะหลึก - เพลิดเพลิน (จนลืมทุกอย่างไปอย่างง่ายดาย-อันนี้เทคนิค การแปลเพื่อให้จำได้นะคะ) การท่องคำศัพท์โดยยึดรากศัพท์นี้ จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณศึกษา prefix และ suffix ไปด้วย

ท่องคำพ้อง โดยจำความหมายทุกตัวไปในครั้งเดียว :

วิธีนี้ฟังดูท่าทางยาก และวุ่นวาย แต่ จริงๆ แล้ว ก็เหมือนกับการท่องศัพท์แบบอื่นๆ โดยคุณจะต้องดูให้ดี ว่าคำนี้มีความหมายอะไรบ้าง ตามปกติแล้วในพจนานุกรมจะทำหมายเลขไว้ให้เป็น 1-2-3-4 เราศึกษาไปในครั้งเดียวทุกๆความ หมาย แล้วคุณก็จะได้คำศัพท์เพิ่มมาใช้อีกหลายคำ แต่เขียนเหมือนกันหมด ประหยัดเวลาในการ จำการสะกดคำ

ท่องไปทั้งประโยค :

วิธีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่จำเก่ง และชอบทำเสียงเลียนแบบเจ้าของภาษา ถ้าคุณใช้วิธีนี้ในการจำทั้งคำ สำเนียงและการเน้นเสียง คุณจะได้สำเนียงการพูดที่เหมือนคนดัชต์ จริงๆ ข้อเสียคือการเลียนแบบสำเนียงที่ผิดๆ จากคนต่างชาติด้วยกันนั้น จะทำให้เราผิดติดตัวไป และสุดท้ายจะแก้ไขอะไรไม่ได้ คุณควรจะฟังจากการกระจายเสียงทางวิทยุหรือโทรศัพท์ดีที่สุด

จำโดยใช้เทคนิค จำให้ตลก :

วิธีนี้ไม่ยากอย่างที่คุณคิด วิธีการจำให้สนุกสนานเช่นนี้ คุณจะ ต้องหาเทคนิคเองโดยพยายามเอามาเปรียบเทียบกับคำไทยที่เป็นสำนวน แต่ละคนมักมีวิธีการจำ อะไรแบบง่ายๆของตัวเอง ลี่จะขอแนะนำสักสองสามคำ เช่น
het leed เล๊ด - ความทุกข์ ความโศกเศร้า
lijden - เลิยเดิ้น อ่านเหมือน Leiden (ชื่อเมืองหนึ่งในแคว้น zuid-holland) - เจ็บปวด เป็นทุกข์
overlijden - โอ้เฟ่อร์เลิยเดิ้น - พ้นทุกข์พ้นโศกไปละ (แปลว่าตายนั่นแหละ)
อีกคำ
nieuws นิวส์ แปลว่าข่าว
gier ฆีเอ่อร์ แปลว่า นกอีแร้ง (นกที่มันชอบกินซากสัตว์ตาย) gierig - ฆีเอ่อรึฆ แปลว่า งก
nieuwsgierig - นิวส์ฆีเอ่อหรึฆ กระหายข่าวซะเหลือเกิน แปลว่า อยากรู้อยากเห็น

ถ้าคุณมีวิธีใหม่ๆในการท่องศัพท์ก็นำมาแบ่งปันบอกเล่าเป็นวิทยาทานบ้างนะคะ


Top
| Home | Europe tour by Smiley | RianDutch | Facebook Double Dutch | Contact | | Privacy Statement
Copyright © 2003-2024 www.thai-dutch.net All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537