การหย่าร้าง โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย

ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง สำหรับคุณๆ ที่อ่านเขียนดัชต์ได้แล้ว เวบนี้มีข้อมูลทุกอย่างที่คุณต้องการทราบเกี่ยวกับกฏหมายการหย่าร้างค่ะ ลี่เองก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เขียนบทความนี้จากประสบการณ์ของตัวเองเลยค่ะ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่เคยโดนหย่ามาแล้ว ลี่อยากให้ทุกคนใจเย็น และใช้การสื่อสารให้ดีที่สุดค่ะ หลายครั้งที่การเลิกร้าง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการไม่รัก แต่เกิดขึ้นเพราะการหลงตัวเองในเวลาอันสั้น อย่าลืมนึกถึงคู่ของเราในวันวาน ในเวลาที่เคยลำบากมาด้วยกัน พยายามอย่ามองหาความผิดของอีกฝ่ายและตัวเราค่ะ เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมา พร้อมกับความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อคุยกันอย่างเปิดใจและเข้าใจกันดีแล้ว ว่าต้องเลิกร้างกัน ลี่ก็ขอให้ข้อมูลต่อดังนี้ค่ะ คลิกที่นี่ได้เลย

การหย่าจะเกิดขึ้นได้ ง่ายมากๆ หากทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องอนาคตกันได้ การหย่านั้นแน่อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เซ็งหน้ากันขึ้นมาก็ขอหย่า มันต้องมีสาเหตุ เมื่อสาเหตุมันเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจได้ว่า พอกันที อย่าอยู่ด้วยกันอีกเลย

ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณต้องการหย่าจริงๆ ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ

  • หาทนาย

    การหย่ากันให้เป็นผลนั้น ต้องทำตามกฏหมาย มีเอกสารหย่าเป็นหลักฐาน ซึ่งจำเป็นต้องมีทนาย หากว่าทั้งสองตกลงกันได้ด้วยดี ก็อาจจะมีเพียงผู้ประสานการหย่าร้าง ซึี่่งเขาจะทำหน้าที่คอยดูแลให้แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายจากกันได้ด้วยดี และจะไม่มีปัญหาอะไรในอนาคต(สำหรับทุกๆเรื่อง)

    หากว่าทั้งคู่ตกลงกันได้ คุณทั้งสองจะเป็น verzoeker ในการยื่นคำร้องขอหย่า gemeenschappelijk verzoekschrift tot echtscheiding

  • ขอหย่า

    ในเนเธอร์แลนด์ คุณจะขอหย่าได้ก็ต่อเมื่อชีวิตสมรสของคุณไม่สามารถดำเนินได้ต่อไป และอยู่ด้วยกันไมได้อีกแล้ว duurzaam ontwricht การหย่าร้างจะทำได้ 2 วิธี ดังนี้

    • แยกกันอยู่ Scheiding van tafel en bed หากว่าคุณทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน กรณีนี้ทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภรรยากันอยู่ คุณจะแยกกันอยู่ก็ได้ ถ้าหากว่ายังไม่พร้อมทางด้านการเงินที่จะต้องหย่าร้างกันจริงๆ หากภายหลังทั้งคู่พร้อม ก็ทำการหย่าร้างกันตามกฏหมายต่อไป
    • หย่าร้างกันไปเลย Echtscheiding กรณีหลังนี้ต้องให้ทนายหรือผู้ประสานงานหย่าร้าง ทำหนังสือคำขอ ยื่นพร้อมกับเอกสารทะเบียนสมรส และใบแจ้งเกิดของทั้งคู่และบุตร(ถ้ามี)ไปยังศาล ทั้งคู่จะเลิกกันตามกฏหมายและสามารถจะแต่งงานใหม่กับบุคคลอื่นได้ในภายหลัง

  • จัดการเรื่องการเงิน

    หลังจากที่รู้ว่าจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นหัวข้อในการจัดการก็คือลูก และเรื่องการเงิน (หรือสินสมรส) ว่าจะแบ่งกันอย่างไร ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องนี้กันได้ก่อนหย่า ทนายก็สามารถจะแจ้งเรื่องขึ้นสู่ศาลได้เลยล่วงหน้า ทั้งนี้เราต้องทำรายการว่าสินทรัพย์ที่มีนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

    • มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ (บ้านที่อาศัยอยู่ด้วยกัน)
      สำหรับเรื่องบ้าน หากว่าทั้งสองฝ่ายซื้อบ้าน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถจะอยู่ในบ้านนั้นต่อไปได้โดยอีกฝ่ายจะได้ทรัพย์สินอื่นไป ตามการแบ่งสรรปันส่วน สำหรับบ้านเช่านั้น ฝ่ายหนึ่งจะได้อยู่บ้านนั้นต่อไป (ส่วนใหญ่ฝ่ายที่ไม่มีที่ไป หรือฝ่ายที่ลูกจะอยู่ด้วย จะมีเหตุผลในการได้สิทธิอยู่บ้านนั้นต่อไป)
    • มูลค่าของทรัพย์สินในบ้าน
    • มูลค่าของทรัพย์สินอื่นๆ เช่น รถยนต์ เรือ หรือสิ่งอื่นใด
    • เงินในบัญชี (ทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะในชื่อใคร)
    • ยอดหนี้สิน และเงินกู้ที่มีอยู่
    • สิทธิในการได้รับเงินบำนาญ เงินค่าประกันชีวิต และเงินอื่นๆ ที่เป็นผลพวงจากการทำงาน และสิทธิประโยชน์จากรัฐ
    • เงินที่จะต้องแบ่งส่วนไว้สำหรับค่าเลี้ยงดู

    ตามหลักการแต่งงาน ทั้งสองฝ่ายจะแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินกันคนละครึ่ง นอกเสียจากว่าก่อนการแต่งงานคุณได้ทำสัญญาไว้ในเรื่องของสินสมรส โดย notaris

  • ตกลงกันเรื่องลูก พ่อแม่มีหน้าที่เป็นผู้ดูแล แต่เมื่อคุณหย่ากัน ลูกไม่สามารถอยู่กับทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกันได้ คุณจึงต้องตกลงกันแต่แรกว่าลูกจะอยู่กับใคร และอีกฝ่ายสามารถจะมารับลูกไปดูแลได้เมื่อไหร่บ้าง การทำเช่นนี้เรียกว่า omgangsregeling

    คุณสามารถจะเลือกให้ลูกอยู่กับทั้งสองคนก็ได้ โดยใช้วิธี co-ouderschap ลูกสลับไปอยู่กับพ่อและแม่ คือมีสองบ้านไปเลย

  • เรื่องขึ้นสู่ศาล หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้เรียบร้อย การขึ้นศาลก็เป็นเพียงการทำไปตามขั้นตอนทางกฏหมาย ข้อตกลงหลังการหย่าร้างนั้นเรียกว่า echtscheidingsconvenant ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมรับไปปฏิบัติตาม

การฟ้องหย่า

เมื่อสองฝ่ายตกลงกันด้วยดีไม่ได้ หรืออีกฝ่ายยักท่า ไม่ยอมหย่า ก็ต้องฟ้องหย่า การฟ้องหย่านั้นจะทำได้โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องมีทนายความของตนเอง และห้ามใช้ทนายคนเดียวกัน

การฟ้องหย่าเริ่มต้นด้วยการยื่นคำร้องขอหย่า verzoekschrift ซึ่งจัดทำโดยทนายของคุณ ทนายจะต้องรวมรวมข้อมูล เอกสาร และหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ศาลยินยอมให้คุณได้หย่า ทั้งนี้ทนายของอีกฝ่ายก็สามารถยื่นเอกสารเพื่อให้คำร้องของคุณตกไป เมื่อศาลมีเอกสารของทั้งสองฝ่ายแล้วก็จะเชิญทั้งคู่มาให้ปากคำในศาล หลังกจากสองอาทิตย์เมื่อได้ผลสรุปและการตัดสินจากศาล ศาลก็จะออกใบอนุมัติการหย่าของคุณมา ซึ่งจะมีรายละเอียดการตกลงในเรื่องต่างๆขัางต้น ทั้งคู่ต้องยินยอมรับไปปฏิบัติตาม การต่อสู้ในชั้นศาลอาจะใช้เวลาสามเดือนขึ้นไป หรือนานกว่านั้น

หากว่าคุณมีลูก ศาลจะตัดสินจากปัจจัยต่างๆ ว่าลูกควรจะอยู่กับใคร และ ถ้าลูกคุณอายุเกิน 12 ปี ซึ่งถือว่าตัดสินใจเองได้ ศาลจะให้เด็กเป็นผู้เลือกว่าอยากอยู่กับใคร ถ้าหากว่าคุณยังไม่พอใจกับผลการตัดสินของศาล คุณสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อไปในชั้นสูงได้ ภายในสองเดือนหลังจากผลของการตัดสินแรก

หากว่าคุณต้องการความช่วยเหลือในการหย่า คุณสามารถกรอกแบบฟอร์มยื่นคำร้องได้ที่นี่ค่ะ Click!! www.echtscheidingwijzer.nl ยังมีข้อมูลที่จะให้คุณได้อีกมากมาย ทั้งในเรื่องคำแนะนำในการหย่า กฏหมายและรายละเอียดของการหย่า การเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูบุตร และอื่นๆ

คำเตือนและคำแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน และคนที่คิดจะหย่า

  • การแต่งงานในสังคมเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่เพียงการจัดงานแต่งงานแล้วย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน น้อยคู่นักที่จะรีบตัดสินใจจดทะเบียนสมรสกัน หากว่าคุณทั้งคู่ยังไม่มั่นใจกับชีวิตคู่ ใช้วิธีอื่นเช่นการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ หรือการทำสัญญาอยู่ร่วมกันไปก่อน เพราะวิธีเหล่านี้ จะเลิกร้างกันทำได้ง่ายกว่าการสมรสมากมายนัก
  • ชีวิตแต่งงานของคุณ ไม่มีบุคคลที่สามใดที่จะเข้าใจได้ดีกว่าคุณทั้งคู่เอง หากว่าการทนอยู่ด้วยกันมีแต่จะทำให้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งลูกหมดความสุข การเลือกที่จะหย่าร้างก็เป็นสิทธิของทั้งคู่ อย่าทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนด้วยการพยายามเป็นศัตรูกับอีกฝ่ายหนึ่ง
  • อย่าแต่งงานเพียงเพราะว่าคุณคิดว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น การแต่งงานที่ขาดความรักความเข้าใจและโดยอย่างยิ่งความอดทน จะเป็นผลไปสู่การหย่าร้างกันในเร็ววัน เมื่อคุณตัดสินใจแต่งงาน อย่าลืมว่าคุณได้ใช้เวลาปลูกต้นรักมา ก่อนจะเลิกรากัน ใช้เวลาพิจารณาสิ่งที่คุณได้ทำร่วมกัน และนึกถึงอนาคตของบุคคลที่สามด้วย
  • อย่าพยายามคิดล่วงหน้าไปถึงการหย่าร้้าง ก่อนที่คุณจะคิดแต่งงาน สามีดัชต์ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้คุณได้สัญชาติเนเธอร์แลนด์หรือมาอยู่ในฮอลแลนด์ได้อย่างถูกกฏหมาย ถ้าคุณเพียงแค่อยากได้สัญชาติใหม่ ควรใช้วิธีอื่น อย่างน้อยก็เพื่อรักษาชื่อของผุ้หญิงไทย ไม่ให้โดนเหมารวมไปเสียๆหายๆ

ไม่ว่าคุณทั้งสองจะหย่า ด้วยสาเหตุอันใด ข้าพเจ้าไม่เกี่ยว แต่ขอให้รู้ไว้ว่าการหย่านั้น มีค่าใช้จ่ายเสมอ ไม่ว่าจะขอหย่ากันดีๆ หรือฟ้องหย่า โดยอยู่ตั้งแต่ 500 ยูโร ถึงหลายพันยูโร หากมีรายละเอียดต้องตกลงกันยาว


Top
© 2003-2021 Thai-Dutch.net All Rights Reserved
| Home | Europe Tour by Smiley | RianDutch | Facebook-Double Dutch | Copyright | Privacy statement