วีซ่าเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว วีซ่าระยะยาว MVV

สำหรับผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในประเทศเนเธอร์แลนด์เกิน 90 วันขึ้นไป ถึงแม้จากชื่อภาษาดัชต์แล้ววีซ่านี้จะเป็นแค่ชั่วคราวแต่จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อย้ายมาอาศัยในเนเธอร์แลนด์นั่นแหละค่ะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2012 มีข้อกฏหมายใหม่ระบุให้คนไทยที่ต้องการขอวีซ่าเอ็มวีวีชนิดคู่สมรส และคู่หมั้น (เท่านั้น สำหรับนักเรียนและลูกจ้างไม่เกี่ยว) นอกจากจะต้องทำการสอบภาษาและวัฒนธรรมให้ผ่านเพื่อใช้ผลสอบยื่นประกอบการขอวีซ่าแล้ว ก็จะต้องทำการสมรสให้เรียบร้อย ในประเทศไทยหรือมาสมรสในเนเธอร์แลนด์ (ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรจะจัดการให้เป็นไปให้เรียบร้อยโดยไวนะคะ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตความรักของเราจะยาวนานแค่ไหน การเป็นคู่สามีภรรยาอย่างถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาและความปวดหัวในอนาคตให้เราได้ค่ะ) หรือสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน อะลุ้มอล่วยให้มาทำการสมรสในเนเธอร์แลนด์ได้ ดูข้อมูล อัพเดทได้ที่เวบตรงค่ะ IND ค่ายื่นคำร้องตอนนี้ 240 Euro ค่ะ

รายละเอียดในภาษาดัตช์ สามารถส่งให้คู่สมรสหรือคู่หมั้นของคุณอ่านได้ที่เวบนี้ค่ะ Naar Nederland.nl

คุณและคู่ของคุณมีความพร้อมในการขอวีซ่าแล้วหรือยัง

กฏเกณท์ในการขอวีซ่าชนิดนี้ในช่วงหลังเพิ่มความเข้มงวดขึ้นมาก คู่หมั้นหมายที่ยังไม่เค้ยไม่เคยพบหน้าค่าตากันมานอกจอ จริงๆมาก่อน อาจจะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษหากทางสถานทูตและไอเอ็นดี เมื่อพบว่าพาสปอร์ตของพ่อเจ้าประคุณนั้นไม่เคยมีร่องรอยการเข้ามาในประเทศไทยเลย และของคุณก็ไม่เคยเหยียบย่างเข้าเนเธอร์แลนด์เลย คุณจะต้องเตรียมเอกสารแสดงความสัมพันธ์และการคบหากันเพิ่มด้วยค่ะ นอกจากนั้นเกณท์เงินเดือนขั้นต่ำในการเป็นสปอนเซอร์คู่หมั้นหรือคู่สมรสก็ได้ถีบตัวสูงขึ้นเกือบสองร้อยเปอร์เซ็นต์ถายในเวลาไม่ถึงห้าปี เรามาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะ

สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือความแตกต่างที่หลายๆคนเรียกเอ็มวีวีนี้ว่า วีซ่าคู่หมั้น หรือวีซ่าคู่สมรส ทั้งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่อเมริกา จริงๆแล้วไม่มีการแยกประเภทวีซ่าค่ะ เรียกรวมกันไปว่า MVV โดยมีผู้ค้ำประกันที่ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเจ้านายค้ำประกัน ก็อาจจะเรียกได้ว่าวีซ่าทำงาน ถ้าค้ำประกันตัวเอง โดยมีเอกสารรับรองการสมัครเข้าเรียนจากทางสถานศึกษา ก็จะเรียกว่าวีซ่านักเรียน หรืออื่นๆ :

หากว่าคุณและคู่ของคุณยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ว่าจะในประเทศไทยเอง หรือในเนเธอร์แลนด์ คุณทั้งคู่จะ ถือว่ากำลังยื่นขอวีซ่าคู่หมั้น สำหรับคนที่จดทะเบียนกันแล้ว ก็จะกลายสภาพเป็นคู่สมรสไป การเป็นคู่สมรสนั้นก็เอื้ออำนวนประโยชน์ต่อการขอวีซ่าเอ็มวีวี นี้ขึ้นมาหน่อยนึงค่ะ เรามาดูในส่วนของอายุกันก่อนค่ะ

เรื่องอายุนั้น ทางการได้กำหนดไว้ใหม่ว่าหากทั้งสองฝ่าย(ไม่ว่าจะเป็นหญิงต่อชาย หญิงต่อหญิง หรือชายต่อชายก็ตาม) อายุไม่ต่ำกว่า 21 ปีค่ะ ป้องกันปัญหาพรากผู้เยาว์

และทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมเอกสารแสดงความเป็นโสดมายืนยัน (ถ้าเคยแต่งงานมาก่อนก็ต้องเตรียมเอกสารการหย่าให้เรียบร้อย) นอกจากนี้ยังมีกฏข้ออื่นๆที่ไม่ระบุอย่างชัดเจน เช่นทั้งคู่ควรมีอายุห่างกันไม่เกิน 20 ปี (อันนี้ลี่เข้าใจนะคะ นึกภาพใครแต่งงานกะลูกตัวเองแล้วมันก็ ทำใจลำบากอยู่) จริงๆเรื่องของอายุต่างนี้ เป็นปัญหาทางสังคม และครอบครัวต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็ไม่อยากรับภาระค่ะ แต่เขาก็ไม่ประกาศโต้งๆ และหากคู่ใดที่มีความพร้อม มีความเข้าใจกัน คบหากันเป็นเวลานาน เขาก็ไม่เอาเรื่องส่วนตัวแค่นี้มาแยกคู่คุณออกจากกัน หากคุณสมบัติอื่นๆ ของฝ่ายชายครบถ้วน บริบูรณ์ค่ะ

คุณผู้ชาย (หรือหญิงดัตช์) จะต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นดัตช์ที่ย้ายไปซื้อบ้านอยู่ในเบลเยี่ยม หรือดัตช์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ ก็จะไม่เข้าข่ายนี้ค่ะ เช็คให้เรียบร้อยก่อนนะคะ สำหรับการมีทะเบียนบ้าน ไม่ได้ระบุว่าจะต้องซื้อบ้านเป็นของตัวเอง จะเช่าบ้านอยู่ อยู่กับเพื่อน หรืออยู่กับพ่อแม่(ในกรณีผู้อายุน้อย) ก็ไม่ผิดแต่อย่างใดค่ะ

ข้อต่อมาเรามาดูในส่วนของ criteria ด้านการเงิน กันค่ะ รายได้ที่บังคับอย่างน้อยมีสัญญาจ้างงาน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอวีซ่า € 1.594,20 ยูโรต่อเดือน ไม่รวมเงินโบนัสสำหรับวาเคชั่นค่ะ

เงินตัวนี้สามารถดูได้ในสลิปเงินเดือน ตรงช่อง '(bruto)loon SVW' ค่ะ ในขณะที่คู่รักใหม่ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคการเงินที่มากขึ้นนิดหน่อย อยู่ที่ € 1.594,20 ยูโรต่อเดือนไม่รวมเงินวาเคชั่นเช่นเดียวกัน สำหรับเงินรวม vakantie อยู่ที่ ​€ 1.721,74 ค่ะ (สำหรับคู่ของใครที่ไม่ได้ทำงานแล้ว เนื่องจากป่วย หรือสูงอายุ และรับเงินช่วยเหลือจากรัฐหรือเงินเพนชั่น หรือมีกิจการของตัวเอง หรือทำงานฟรีแลนซ์ ให้เช็คได้ที่เวบของINDโดยตรงค่ะ เพราะจะต้องใช้เกณท์อื่นๆ ในการวัดเงินรายได้ที่เพียงพอต่อการค้ำประกัน

สาเหตุที่ต้องมีเรื่องการเงินและเงินเดือนรายได้ขั้นต่ำเข้ามาเป็นเกณท์นี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คุณๆ ที่ได้รับการสปอนเซอร์มาโดยคู่รักของคุณนั้น จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบากในช่วงแห่งการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ก่อนจะเริ่มศึกษาภาษา และออกหางานทำได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคตค่ะ

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นค่ะ ทางคุณเองที่เมืองไทยจะต้องเตรียมตัวเพื่อจะทำการสอบ basisexamen inburgering in het buitenland ให้ผ่านโดยเมื่อคุณฝึกปรือฝีมือจนมั่นใจว่ามีความพร้อมสอบ แล้วก็ให้คู่ของคุณจัดการกรอกแบบฟอร์มได้ที่เวบไอเอ็นดี และทำการโอนจ่ายเงินค่าสอบจำนวน 150 ยูโรไปตามบัญชีที่ทางไอเอ็นดีกำหนดไว้

เพื่อคุณจะได้ไปติดต่อสถานทูตเพื่อขอทำการนัด หมายวันที่ในการสอบที่ห้องสอบ ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ ในกรุงเทพมหานคร ต่อไปค่ะ รายลเอียดสำหรับการสอบนี้ เราจะมาคุยกันในหน้านี้ค่ะ Basisexamen inburgering in het Buitenland เมื่อคุณสอบผ่านแล้ว คุณและเขาจึงจะสามารถเริ่มต้นการขอเอ็มวีวีโดยมีขั้นตอนดังข้างล่างนี้ละค่ะ

ขั้นตอนในการยื่นเรื่อง

อันดับแรกคือผู้ที่จำขอวีซ่าเพื่อเดินทางมาเนเธอร์แลนด์นั้นจะต้องทำการสอบให้ผ่านเสียก่อน

ข้อกำหนดและกฏเกณท์รวมถึงเอกสารในการขอวีซ่า mvv

+ แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่า คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด
+ รูปถ่าย สีหรือขาวดำ 2 รูป
+ พาสปอร์ต วันหมดอายุควรจะมีอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปนับตั้งแต่วันที่ไปยื่นขอ
+ สำเนาพาสปอร์ตของผู้ค้ำประกันคุณ ในเนเธอร์แลนด์ ทุกหน้าที่มีรอยแสตมป์ใดๆ พาสปอร์ต วันหมดอายุควรจะมีอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปนับตั้งแต่วันที่ไปยื่นขอ
+ หนังสือรับรองสถานภาพความเป็นโสดที่ทางเทศบาล หรืออำเภอออกให้ แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือออกมาเป็นเวอร์ชั่นอังกฤษแต่แรกแล้ว และรับรองโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (เอกสารมีอายุไม่เกินหกเดือน)
หรือ
+ ทะเบียนสมรสที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและรับรองโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (ถ้าหากสมรสมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์แล้วก็ให้ใช้ทะเบียนสมรสที่เป็นภาษาด้ชต์ได้เลยโดยตรง)
เอกสารผลการสอบ ที่สอบที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ อายุผลสอบห้ามเกิน 1 ปี

เอกสารในการขอวีซ่า mvv : ผู้เยาว์อายุไม่ถึง 18 ปี (สำหรับผู้ที่จะพาลูกติดไปด้วย ในครั้งนี้พร้อมกัน)

+ แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่า คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด
+ รูปถ่าย สีหรือขาวดำ 2 รูป
+ พาสปอร์ต วันหมดอายุควรจะมีอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปนับตั้งแต่วันที่ไปยื่นขอ + สูติบัตร หรือ ใบแจ้งเกิด แปลเป็นภาษาอังกฤษและรับรองโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์
+ ทะเบียนบ้าน แปลเป็นภาษาอังกฤษและรับรองโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์
+ สำเนาพาสปอร์ตของบิดา มารดา (ทั้งสองคน หากยังมีชีวิตอยู่) ทุกหน้าที่มีการแสตมป์
+ หากบิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนไทยยังคงอยู่ในประเทศไทย ให้ออกเอกสารทางกฏหมายรับรองให้แก่ผู้ปกครองคนที่จะเดินทางไปพร้อมผุ้เยาว์ในเนเธอร์แลนด์ และยอมรับว่าผู้ปกครองในประเทศไทยจะไม่เรียกร้องสิทธิใดๆทั้งสิ้น (เอกสารสำหรับบิดามารดาที่หย่าร้างกัน)
ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี+ หนังสือรับรองสถานภาพความเป็นโสดที่ทางเทศบาล หรืออำเภอออกให้ พร้อมมีพยานรับรอง 3 คน แปลเป็นภาษาอังกฤษและรับรองโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (เอกสารมีอายุไม่เกิน 6 เดือน)
ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี+ หนังสือรับรองเซ็นโดยผู้เยาว์ว่าตนเองไม่มีบุตรอยู่ในความรับผิดชอบ

กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ รับรองการแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ

สำหรับเอกสารที่จำเป็นต้องแปลในขั้นต้น เช่นทะเบียนบ้าน สูติบัตร หนังสือรับรองสถานภาพความเป็นโสด ใบแจ้งเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล และเอกสารอื่นใดที่คุณต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนนำไปผ่านการแสตมป์รับรองจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยนั้น คุณสามารถจะดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสาร มาทำการแปลด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเงินค่าแปลให้สำนักแปล ได้จาก เวบไซต์ของกระทรวงต่างประเทศ ค่ะ ที่ตั้ง แผนที่และเบอร์โทรศัพท์ คลิกที่นี่ ส่วนคำถามต่างๆ เกี่ยวข้องกับการแปลและรับรองเอกสาร ทางเวบเราจะไม่คัดลอกมาลงซ้ำอีก ขอให้ผู้อ่านคลิกไปอ่านในเวบถามตอบของกระทรวงต่างประเทศ ได้โดยตรงเลยนะคะ

แปลเอกสารเป็นภาษาอื่น

หากคุณเคยใช้เอกสารเดียวกัน ในการขอวีซ่าเข้าประเทศอื่น (กรณีนี้คือสูติบัตร) เช่นอาจจะเคยแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อใช้ขอวีซ่าไปเรียนต่อที่นั่น หรือแปลเป็นภาษาเยอรมัน คุณสามารถนำเอกสารเดียวกัน ไปรับรองจากสถานทูตดัตช์ได้ด้วย หากสำนักแปลนั้น เป็นบริษํทที่สถานทูตดัตช์รับรองความน่าเชื่อถือ ดังนั้นหากคุณจะแปลเอกสารเป็นภาษาดัตช์โดยตรง เพื่อไม่ต้องไปรับการแสตมป์รับรองการแปลภาษาอังกฤษ คุณจะต้องติดต่อสถานทูตดัตช์ เพื่อขอรายชื่อสำนักแปลดัตช์ที่สถานทูตยอมรับ ในการแปลตรงดัตช์นี้ อาจมีค่าบริการ 500 - 800 บาทต่อเอกสารค่ะ ก็ลองเลือกตามความสะดวกนะคะ

สำนักงานรับแปลเอกสารในกรุงเทพ

S.C.Trans & Travel Co., Ltd.
เมล์ : nattaya_sctt@hotmail.com
โทร : คุณอำนาจ 01-9151191

ถ้าคุณไปใช้บริการที่ใดแล้วประทับใจ แนะนำกันมาได้ค่ะ สำหรับใครที่พอจะแปลเองได้ แปลเสร็จแล้วอยากเช็คความเรียบร้อย ก่อนส่งไปรับแสตมป์ที่กองการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ก็สแกนเอกสารแปลนั้น(หลังจากแปลเสร็จแล้วนะคะ) ส่งมาให้ลี่ได้ค่ะ ลี่จะดูให้ แต่ลี่ไม่รับแปลนะคะ ย้ำอีกครั้ง


Top
© 2003-2021 Thai-Dutch.net All Rights Reserved
| Home | Europe Tour by Smiley | RianDutch | Facebook-Double Dutch | Copyright | Privacy statement