รถโดยสารสาธารณะ

รถโดยสารในที่นี้ ครอบคลุมไปถึงรถบัส รถราง(รถแทรม) รถไฟใต้ดิน รถไฟ(stoptrein) ภายในเขตตัวเมือง ในหน้านี้เราจะไม่พูดถึงรถไฟ นะคะ ขอยกไปอีกหัวข้อหนึ่ง หากเมืองไหนมีรถโดยสารชนิดใด ก็สามารถจะใช้ตั๋วรถโดยสารแบบเดียวกันขึ้นลงต่อรถ โดยไม่ต้องซื้อตั๋วใหม่อีกตามเงื่อนไขของค่าโดยสารรถ(เช่น ถ้าคุณซื้อตั๋ววันมา ก็จะใช้ได้ในขอบเขตของรถโดยสารของบริษัทผู้ให้บริการนั้น)

รถโดยสารเป็นสัมปทานของรัฐ แต่ละบริษัทที่รับสัมปทานมา ก็จะมีเส้นทางที่วิ่งของตัวเอง เช็คเส้นทาง ตารางรถวิ่ง และตั๋วพิเศษชนิดต่างๆได้จากเวบไซต์เหล่านี้ค่ะ

http://www.gvb.nlอัมสเตอร์ดัม
http://www.bba.nl Noord Brabrant
http://www.ret.nl รอตเตอร์ดัม
http://www.htm.nl เดนฮาก
http://www.gvu.nl อูเทรค
http://www.arriva.nl
http://www.connexxion.nl

วางแผนทางการเดินทาง และค่าเดินทางกับรถโดยสารสาธารณะ จากเวบ 9292 ที่นี่ค่ะ บอกราคาและเวลาโดยละเอียด รถโดยสารที่วิ่งภายในแต่ละเมือง(หรือบางสายก็วิ่งข้ามเมือง) มีตั๋วโดยสารที่ใช้กันอยู่ 4 ชนิดค่ะ

  1. ตั๋วแบบที่ 1 คือ ตั๋วกระดาษ เป็นตั๋วที่ซื้อกับคนขับรถโดยตรง ใช้เฉพาะการเดินทางขานั้นๆ เป็นตั๋วที่เมื่อเทียบแล้วราคาต่อขา จะแพงกว่าการใช้บัตรพลาสติก Ov-chipkaart และบางครั้งคนขับก็อาจจะไม่มีตั๋ว ทำให้คุณต้องรับผิดชอบตัวเอง หากมีเจ้าหน้าที่ตรวจ ขึ้นมาสุ่มตรวจ

  2. ตั๋วแบบที่ 2 เป็นตั๋วประเภทราคาลดพิเศษ เป็นตั๋วกระดาษ chipkaart แบบใช้แล้วทิ้ง เช่นตั๋ววัน หรือเป็นเป็นตั๋วแบบที่สามารถโหลดใส่ในบัตร chipkaart ได้ หรือเป็น QR code

    ตั๋วชนิดนี้ต่างกันไปตามแต่บริษัทผู้เดินรถ โดยแต่ละบริษัทจะมีมาตรการกำหนดราคาต่างกันไป ตามวิธีการจูงใจลูกค้า เช่น HTM ในเดนฮากจะมีตั๋ววัน Dagkaart ที่คุณเสียเงินราคานี้ แต่สามารถขึ้นลงรถโดยสารทุกชนิดได้ทั้งวัน หรือตั๋ว Waterland เดินทางด้วยรถบัส EBS ในย่านนั้นๆ ได้โดยไม่จำกัด ฟรีทั้งวัน เป็นต้น

  3. ตั๋วแบบที่ 3 ตั๋วสมาชิก หรือ Abonnement มีให้เลือกตามความถี่ในการใช้รถโดยสารของคุณ ตั้งแต่ตั๋วสัปดาห์ ตั๋วเดือน และตั๋วปี ตั๋วแบบนี้จะโหลดด้วยวิธีการ electronic ใส่ลงในบัตรพลาสติก ov-chipkaart ซึ่งเป็นบัตรแบบมีรูป เป็นของส่วนบุคคลเท่านั้น

    ตั๋วปีนั้นเป็นตั๋วที่ค่อนข้างถาวร และให้ิสิทธิประโยชน์มากกว่าตั๋วระยะสั้น เพราะราคาจะถูกกว่ามาก หากว่าเจ้าของตั๋วทำตั๋วหาย ก็สามารถติดต่อเพื่อขอออกตั๋วใหม่ได้ ในขณะที่ตั๋วระยะสั้น ไม่มีบริการนี้ หากว่าตั๋วเดือนของคุณหายก็เท่ากับเสียเงินเปล่า รายละเอียดของค่าสมาชิกเหล่านี้ คุณเลือกดูจากผู้ให้บริการรถโดยสารในเขตที่คุณพักอาศัยอยู่ได้เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นรถสาธารณะภายในเขตเมือง หรือรถไฟ www.ns.nl ที่ใช้ได้ทั่วประเทศ

    สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้เวลาไม่นาน ไม่แนะนำให้ซื้อตั๋วชนิดนี้ค่ะ ถึงแม้จะเป็นตั๋วสัปดาห์ คุณควรจะคำนวณก่อนว่าแผนการเดินทางของคุณเป็นอย่างไร ค่าโดยสารเป็นราคาเท่าไหร่ ก่อนจะได้ตัดสินใจทำตั๋วสมาชิกเช่นนี้

  4. ตั๋วแบบที่ 4 OV-chip kaart ตั๋วอิเลคโทรนิก ที่ฝังอยู่ในการ์ดพลาสติก ขนาดเท่าเอทีเอ็ม บัตรเปล่านั้นก็มีราคา ดังนั้นไม่ควรทำหาย เพราะเงินที่เหลืออยู่ในบัตร คนอื่นก็สามารถนำไปใช้ได้ด้วย เหมือนทำกระเป๋าสตางค์หาย เพราะบัตรนี้ไม่มีพินโค้ดป้องกันการใช้ เหมือนบัตรเอทีเอ็ม หากคุณทำตั๋วปีรถไฟ ตั๋วรถไฟที่คุณใช้ก็ยังทำหน้าที่เป็นตั๋วหลักสำหรับการใช้ในรถสาธารณะชนิดอื่นๆ ได้ทั่วประเทศด้วยค่ะ บัตรนี้หนึ่งใบ ใช้ได้กับหนึ่งคนเท่านั้น ไม่สามารถพาเพื่อนคนอื่นมาร่วมกันใช้ได้ จึงจำเป็นต้องมีไว้ต่อคน ตั๋วชนิดนี้มีทั้งแบบ Anoniem ให้ใครยืมก็ได้อย่รงที่บอก หรือแบบ Persoonlijk มีรูปและชื่อของเจ้าของไว้ (ใช้เป็นตั๋วแบบที่สาม) นอกจากนั้นยังแยกตามวิธีการเติมเงินในบัตรเป็นแบบอัตโนมัติหักเงินจากบัญชีของเรา หรือแบบต้องไปเติมเงินเองตามตู้ ผู้ใช้เลือกได้ตามความสะดวก

กฏการใช้รถโดยสารทั่วไป

ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการ ก็ควรจะมีตั๋วไว้เสมอ เพราะคุณอาจโดนตรวจอย่างไม่คาดคิด ค่าปรับที่นี่ก็แพงอย่างไม่คาดคิดเช่นเดียวกัน ตั๋วที่ซื้อเตรียมไว้ ก่อนขึ้นบนรถ จะมีอัตราถูกกว่าซื้อกับคนขับรถ และมีตั๋วโปรโมชั่นแบบที่ 2 ให้เลือกมากมายกว่า ส่วนการใช้ตั๋วสมาชิกนั้นก็ต้องระมัดระวังเก็บรักษาตั๋วของคุณให้ดี ขโมยมีหูตาไวเสมอ

บนรถโดยสารเช่นรถบัส รถไฟใต้ดิน และรถราง คุณไม่ควรจะเอาอาหารที่เลอะเทอะ และน้ำดึ่มขึ้นไป (ถึงแม้จะไม่ทาน) รถพวกนี้ไม่มีถังขยะรองรับถ้าคุณทานอาหาร ก็ช่วยเก็บขยะไปทิ้งที่อื่นให้เรียบร้อย ส่วนรถไฟนั้นคุณทานอาหารได้ตามสบายค่ะ อย่าให้กลิ่นรบกวนผู้อื่นเป็นพอ

การลุกขึ้นให้ที่นั่งแก่เด็ก สตรี และคนชรา เป็นธรรมเนียมปกติของผู้มีวัฒนธรรม แต่ที่นี่การช่วยถือกระเป๋าหรือถุงของคนอื่น อาจทำให้เขาเข้าใจผิดว่าคุณพยายามฉกฉวยข้าวของของเขา หากว่าคุณต้องการแสดงความมีน้ำใจ ควรถามให้ชัดเจนก่อน บนรถบัส จะมีป้าย bestemd voor invalid ไว้ สำหรับคนชรา ถ้าเลือกที่นั่งได้ ควรจะเผื่อที่นั่งเหล่านี้ให้ว่างไว้ก่อนเสมอค่ะ

รถบัสและรถรางในแต่ละเมือง มีระบบการเปิด-ปิดประตูไม่เหมือนกัน ประตูทางขึ้น ไม่ควรใช้เป็นทางลง เพราะจะขัดขวางการใช้บริการของผู้โดยสารอื่นที่จะขึ้นรถ เมื่อคุณจะลงให้กดปุ่มให้รถจอดล่วงหน้าก่อนถึงป้าย ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะต้องลงที่ป้ายไหน ติดต่อสอบถามคนขับรถได้ตั้งแต่ตอนขึ้นรถ เพื่อเขาจะได้เตือนคุณเมื่อถึงปลายทางของคุณแล้ว

ปกติแล้วรถบัสจะเปิดแค่ประตูเดียวที่ด้านหน้ารถ ยกเว้นมีผุ้โดยสารที่มีสัมภาระขนาดใหญ่หรือรถเข็น ที่จะต้องขอคนขับรถเข้าทางประตูอื่น สำหรับรถรางนั้น เป็นรถที่มีประตูเล็กอยู่แล้ว หากคุณจะขึ้นรถควรจะรอให้ผู้โดยสารที่ต้องการจะลงได้ลงมาก่อนตามมารยาท ไม่ควรไปยืนรออยู่หน้าประตู แต่ข้างประตู รถไฟใต้ดินหรือเมโทรนั้น ไม่ได้มีทุกเมือง มีแค่ที่อัมสเตอร์ดัมและรอตเตอร์ดัม รถไฟใต้ดินไม่เหมือนรถไฟฟ้าในเมืองไทย รถจะหยุดทุกสถานี แต่ประตูจะไม่เปิดอัตโนมัติ เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิภายใน (ไม่ว่าจะในฤดูร้อนที่ต้องเปิดแอร์ หรือฤดูหนาวที่มีฮีทเตอร์) ดังนั้นคุณต้องกดเปิดประตูเอง อย่ายืนรอเฉยๆ ไม่งั้นลงรถไม่ทัน

ก่อนลงจากรถ ตรวจดูสิ่งของที่คุณนำมาด้วยให้เรียบร้อย หากว่าโดยเหตุบังเอิญใดก็ตาม คุณลืมของไว้บนรถ สามารถโทรแจ้งที่เบอร์โทรของบริษัทเดินรถนั้นๆ โดยเดินหาป้ายรถที่ใกล้ตัวคุณที่สุด จะมีเบอร์บอกที่ป้ายนั้นๆ เรียบร้อยแล้วค่ะ


Top
© 2003-2021 Thai-Dutch.net All Rights Reserved
| Home | Europe Tour by Smiley | RianDutch | Facebook-Double Dutch | Copyright | Privacy statement