กินให้อร่อย เหมือนอยู่บ้านตัวเอง ด้วยอาหารดัชต์

ข้อมูลเพิ่มเติม จากเวบ http://thaidutchguru.blogsome.com/ ค่ะ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์อัพเดทหน้านี้เสียทีค่ะ หลายๆคนพบกับคำตอบประหลาดๆเมื่อถามคนดัชต์ส่วนใหญ่ เขาจะไม่รู้ว่าอะไรคืออาหารประจำชาติ เพราะมันมีหลายอย่าง อย่ากระนั้นเลย เรามาแบ่งเป็นประเภทตามชนิดของอาหารและมื้อของอาหารกันดีกว่านะคะ

อาหารในรอบ 1 วัน

ในที่นี้ ไม่ได้มาพูดถึงอาหารไทย เมื่อเรามาอยู่ในเนเธอร์แลนด์ก็มาหัดกินอาหารดัตช์กันก่อน วันไหนไม่อยากทำกับข้าวไทย จะได้ทนๆ กินได้ ไม่แปลกลิ้น

Ontbijt อนท์ไบยท์

อาหารเช้าแบบดัตช์ๆ ขาดไม่ได้คือขนมปังปอนด์ ทั้งขาวและน้ำตาล เนย ชีส แฮม แยม มีสารพัดรส ช็อกกะแลตโรยขนมปัง ที่ไม่ซ้ำใครที่ไหนในโลก มีขายในฮอลแลนด์ที่เดียว

Hagelslag ฮาเฆิ่ลสลัฆเป็นช็อกโกแลตที่ทำออกมาเป็นเส้น เป็นเม็ดขนาดเม็ดข้าว เป็นก้อนเหมือนลูกปัด มีทุกสี หาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ฮาเฆิ่ลสลัฆนี้ ยังใช้เป็นขนมเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานคลอดลูกของคนดัตช์ด้วย ดังนั้นจะเจอแบบสีฟ้า สำหรับเด็กชาย และสีชมพูสำหรับเด็กหญิงขายอยู่รวมกัน

บางบ้านก็จะกินขนมเค้กอาหารเช้า เรียกว่า ontbijtkoek เวลาไปซื้อมันจะแพ็คใส่ถุง หรือกล่องมาเป็นแท่งยาวๆ เวลาจะกินก็หั่นเป็นชิ้นแบนๆ ทาเนย ขนมเค้กนี้ ใส่ซินนามอน (อบเชย) และกานพลู แล้วเครื่องดึ่มมื้อเช้าก็หนีไม่พ้น กาแฟ และชา

Koffiepaus เบรคกินกาแฟ และชา

ประมาณ 10 โมงครึ่ง ก็จะได้เวลากินกาแฟ ที่ทั้งโรงเรียน ห้างร้าน สำนักงาน และแม้แต่ในตลาด ทุกคนที่ไปทำงาน จะวางมือแล้วเริ่มเดินเข้าครัว หาน้ำร้อนชงชา หรือกาแฟมากินกัน ถ้าคุณไปดึ่มกาแฟในคาเฟ่ ก็จะได้ชา หรือกาแฟ โดยมีช็อกโกแลตชิ้นเล็กๆ หรือคุกกี้ติดมาด้วย แต่แค่ชิ้นเดียวจริงๆ แหม ดัตช์

Lunch ลึ๊นช์

อาหารเที่ยง อย่าได้คาดหวังอะไรอร่อยๆ คนดัตช์นั้นไม่กินอาหารเที่ยงร้อนๆ เหมือนเบลเยี่ยมเพื่อนบ้าน (ไม่ใช่ว่าเขาชอบกินอาหารแบบไม่ร้อน) แต่ดัตช์จะกินแค่ ขนมปัง (อีกแล้ว) เหมือนมื้อเช้า อาจจะต่างกันตรงที่ จะมีเนื้อสัตว์มากขึ้นหน่อย เนื้อวางบนขนมปัง (เรียกว่า Belegd) นอกจากนี้แล้ว บางคนก็ยังทาขนมปังด้วยสลัด สลัดที่ว่านี้ไม่ใช่ผัก แต่เป็น spread สำหรับทาหน้าขนมปังโดยมีมาโยแนสเป็นหลัก มีสารพัดรสเช่นกัน เช่นสลัดไข่ใส่ต้นหอม สลัดสะเต๊ะไก่ สลัดแกงไก่ใส่สับปะรด สลัดกุ้ง สลัดแซลมอน สำหรับคนที่มีเวลาทำกับข้าว (อยู่ที่บ้าน) ก็จะทอดไข่ดาวโปะลงไปบนขนมปัง ที่ใส่ชีส และแฮม หรือเบคอนด้วย เรียกว่า Uitsmijter ถ้าในฤดูหนาว มื้อเที่ยงอาจจะพิเศษหน่อย เพราะมีซุปถั่ว Erwtensoep ร้อนๆ เครื่องดึ่มก็มีชา กะกาแฟอีก

Theepaus เบรคกินกาแฟ และชา

เมื่อเช้าดึ่มไปแล้ว บ่ายสี่โมง ก็เป็นเวลาดึ่มชา กาแฟอีก สำหรับคนที่ทำงานในสำนักงาน ครัวของออฟฟิสมักจะมีขนมเค้ก gebak หรือ vlaai ไว้แจกให้กินกันด้วย ถ้าคุณอยู่ใกล้ร้านอาหาร ให้หาขนมครกดัตช์ poffertjes กินกับชา

poffertjes พ้อฟเฟ้อตเจ้อส์ คือแพนเค้กในเวอร์ชั่นมินิ (แป้งชนิดเดียวกัน) เสิร์ฟมาพร้อมกับเนย และน้ำตาลไอซิ่ง suikerpoeder

Borrel บอร์เริ่ล

กระดกเหล้าเข้าปากตามธรรมเนียม หลังเวลาเลิกงาน (เวลาปกติคือห้าโมงเย็น) ดัตช์มักจะแวะเข้าคาเฟ่ หาเบียร์ดึ่ม ของกินแกล้มเบียร์ นอกจากถั่ว ข้าวเกรียบ (ที่ไม่รู้ไปเอามาจากไหน) แล้วก็คือ Bitterballen

Bitterballenบิตเต้อร์บัลเลิ่น ไม่ได้มีรสขม มันเป็นลูกบอลกลมๆ ที่มีผงจากเศษขนมปังชุบอยู่ข้างนอก ทอดจนเป็นสีทองอร่าม ข้างในไม่แข็งเหมือนลูกชิ้น เป็นราฆูเนื้อ Ragout ราฆู เป็นชื่อครีมซอสที่ทำจากเนื้อ เหนียวๆ ใส่เครื่องเทศลงไป เวลากินก็จิ้มเอากะไม้จิ้มฟัน คู่กะเบียร์ Bitterballen เป็นเวอร์ชั่นลูกกลมๆของ Kroketten ที่เป็นแท่งยาวขนาดนิ้วมือ

Avondeten อาฟนท์เอเติ้น

อาหารเย็นของคนดัตช์นั้น ไม่มีอะไรพิเศษ นอกจากมันฝรั่ง (ต้ม บด ทอด) ตามมาด้วยผัก (ส่วนมากจะต้ม) และเนื้อสัตว์ อันได้แก่สเต็ก อกไก่ ปลา โดยทั้งสามอย่างนี้จะไม่ลงในกระทะเดียวกัน คนดัตช์ชอบกินอาหารหลากหลาย ร้านอาหารทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส กรีซ อิตาเลี่ยน ตุรกี เต็มไปด้วยคนดัตช์ที่กินข้าวนอกบ้าน Uiteten หลังมื้อเย็น ก็ไม่แคล้วจะต้องดึ่มชา หรือกาแฟกันอีกถ้ายังไม่ดึกกว่าสามทุ่ม

อาหารว่าง snack

คนดัชต์เรียกอาหารว่างด้วยศัพท์คำเดียวกับอังกฤษคือ snack อาหารว่างพวกนี้คนดัชต์เขาจะกินกันเป็นอาหารมื้อหลักในบางมื้อได้เลยทีเดียว สำหรับสถานที่ขายนั้นมีให้เห็นกันทั่วไปตั้งแต่จาก snack bar ที่เป็นร้านเปิดขายเฉพาะทาง หรือตามตู้หยอดเหรียญในย่านช้อปปิ้ง หรือตามสถานีรถไฟก็ยังมีให้เห็นกัน ของกินจำพวกสแน็คที่มีชื่อของฮอลแลนด์ก็ได้แก่

frikadel ฟริคาเด็ล ชื่อนี้ไม่ใช่ภาษาดัชต์แท้ๆ แต่เป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่าเนื้อบด gehakt ก็บอกชื่อตามนั้น ฟริกาเด็ลเป็นไส้กรอกชนิดหนึ่งรสชาติค่อนข้างเผ็ด ขนาดเท่าๆกับไส้กรอกตามเซเว่นอิเลเว่นที่เมืองไทย แต่อาจจะยาวกว่า การรับประทานแบบดั้งเดิมคือใส่มายองเนสและซอสเคอรี่หรือมะเขือเทศ โรยด้วยหอมสับ ถ้าได้ครบเครื่องอย่างนี้แล้วก็จะถือว่าได้กินฟริคาเด็ลอย่างเอร็ดอร่อยครบครันเลยทีเดียว ปกติแล้วในเมนูอาหารดัชต์สำหรับเมนูเด็ก คุณมักจะพบฟริคาเด็ลอยู่ในนั้น การหาซื้อฟริคาเด็ลมีทั้งแบบทอดแล้วพร้อมรับประทาน หรือจะหาซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นแบบแช่แข็งก็มีให้เลือกมากมายหลายขนาด

kroket โครเก็ต สแน็คอีกชนิดหนึ่ง ทำด้วยเนื้อหรือมันบด แล้วคลุกด้วยแป้งชุบทอด โครเก็ตเป็นอาหารเก่าแก่เดิมนั้นแม่บ้านจะหาเศษเนื้อที่เหลือๆมาบดรวมกัน ปรุงรสชาติแล้วคลุกด้วยแป้งคลุกทอดเรียกว่า paneermeel สองชั้นก่อนลงไปทอดในน้ำมันใน frituurpan ให้เหลืองอร่ามกรอบนอกนุ่มใน คำว่า kroket นั้น เชื่อกันว่ามาจาก croquette ในภาษาฝรั่งเศสค่ะ

bitterbal บิตเต้อร์บัล เป็นตระกูลเดียวกับ kroket โดยเจ้าลูกบอลกลมๆ นี้มีไส้เป็นเนื้อบดผสมเครื่องเทศ ทำเป็นลูกกลมตามชื่อที่บอกแล้ว

patat ปาตั๊ด หรือ Friet ฟรี้ต ก็คือมันฝรั่งทอดเฟร้นช์ฟรายนั่นเองค่ะ ข้อแตกต่างคือมันฝรั่งทอดแบบดัชต์นี้ จะมีชิ้นใหญ่อวบอ้วนกว่า โดยแบบดั้งเดิมจะต้องตัดตรงเป็นแท่ง ไม่มีหยัก และทอดให้กรอบนอก นุ่มใน ปาตั๊ดนั้นเป็นของกินที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่กินกันทั่วไป บ้างก็กินเป็นอาหารมื้อเที่ยงกันเลยทีเดียว ไม่น่าสงสัยว่าทำไมคนดัชต์ถึงอ้วนกันเป็นส่วนใหญ่

patat met ปาตั๊ด เม็ต ไม่ใช่อาหารอะไรแปลก เพียงแต่เป็นคำเรียกที่ทุกคนจะรู้ว่าหมายถึงมันฝรั่งทอดที่ราดด้วยมายองเนส หากคุณไปซื้อกินตามแผงขาย หรือในร้านสแน็คบาร์ เขาก็จะถามคุณมาเช่นนี้เอง ถ้าคุณไม่ต้องการมาโยก็บอกเขาไปว่า zonder

patat oorlog ปาตั๊ด ออร์โหลค คำว่า oorlog แปลว่าสงคราม แต่มันฝรั่งชนิดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสงคราม แต่ว่ามันมีเครื่องคือมีซอสราดหลายชนิด และมีหอมสับโรยเหมือนฟริคาเด็ลค่ะ

Hollandse Nieuweฮอลลันด์เซ่อะ นิวเว่อะ คือปลาฮาริ่งสดๆที่เพิ่งจับขึ้นมาได้ไม่นาน ยังไม่ผ่านการแช่แข็ง เอามาตัดหัว เอาก้างออกแล้วทำความสะอาดมาขายให้คุณกิน คู่กับหอมสับ หรือใส่มาในขนมปังเล็กๆ เป็น broodje haring การจับปลาฮาริ่งนั้นมีฤดูกาล และไม่ได้ทำกันทั้งปี ฮาริ่งใหม่ๆสดๆ จะเริ่มมีขายกลางเดือนมิถุนายน ฮาริ่งที่มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมักเป็นของที่แช่แข็งไว้แล้ว ถ้าถามคนดัชต์เขาจะบอกว่ารสชาติอร่อยเทียบกันไม่ได้ แต่สำหรับคนไทยหลายๆคนแล้ว ฮาริ่งสดกลับไม่เป็นที่น่าประทับใจ ใครที่ยังไม่เคยทาน ก็นึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่เป็นปลาดิบ แต่ปลาดิบชนิดนี้เป็นแบบเค็ม และเวลากินยังเห็นรูปร่างเป็นตัวๆอยู่ แบบนั้นเลยนะคะ เทคนิคการกินแบบดัชต์ คุณจับฮาริ่งไว้ให้แน่นด้วยสามนิ้ว ชุบหัวหอมหั่นแล้วชูขึ้นสูงๆ อ้าปากกัดไปทีละคำ พอทำให้นึกอยากจะกินขึ้นมาบ้างไหมคะ

ขนม ขนมหวาน lekkernij

มาเริ่มต่อด้วยขนมและของหวาน เพราะของแบบนี้คุณจะเห็นได้บ่อยกว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เรียงมาตามลำดับคือ

drop ดร็อป หรีอลูกอมแบบดัชต์ มีหลายสี หลายรูปลักษณ์ หลายๆแบบคุณก็อาจจะเคยเห็นในร้านขายขนมตักชั้นนำในกทม. คนดัชต์นั้นชอบกันมาก แต่สำหรับคนไทยหลายๆคนแล้ว การต้องกิน drop นี่ถือเป็นเรื่องไม่น่าดีใจเลย เพราะรสชาติมันทะแม่งๆ แบบบอกไม่ถูกคล้ายๆ ลูกอมแฮ็คส์ แต่มันไม่ซ่าและไม่หวานอร่อยเท่า ดร็อปมีทั้งแบบหวานและแบบเค็ม การทำดรอปนั้น ใช้ไม้หวาน zoethout เป็นรากของต้นไม้เฉพาะอย่างที่มีกลิ่นและรสชาติแบบที่คนดัชต์ชอบ จริงๆแล้วไม้หวานนี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศที่มีอาหารค่อนข้างร้อน ไม่ได้งอกในฮอลแลนด์

ดร็อปส่วนมากที่คุณเห็นขายเป็นถุงๆ นั้นจะมีสีดำ โดยการทำให้ดำ และมีหลายรสชาติด้วยกัน ตามแต่จะแต่งสรรค์ เช่นรสมินท์ รสยูคาลิปตัส รสน้ำผึ้ง

oliebal โอลี่บัล ของกินที่เหมือนกับปาท่องโก๋แบบกลม (ซึ่งลี่เรียกไม่ถูก ใครทราบช่วยมาบอกกันเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ) แป้งที่ทำนั้นคล้ายกัน โอลี่บัลเป็นของกินพิเศษที่นิยมซื้อขายกันในช่วงหน้าหนาวใกล้วันปีใหม่ การได้กินของทอดร้อนๆ อร่อยๆ มันๆ ในช่วงหน้าหนาวนี่ถือเป็นสุดยอดเลย ร้านโอลี่บัลที่ดังๆนั้น จะมีลูกค้าตามมาเข้าคิวรอกันเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ได้กินของอร่อย และทุกๆปีแต่ละร้านแต่ละแผงลอยก็จะมาประกวดประชันกัน โอลี่บัลจะมีเนื้อแป้งนุ่มกว่าปาท่องโก๋ และไม่ถึงกับกรอบ และบางเจ้าก็จะใส่ลูกเกดลงไปด้วยให้เปรี้ยวๆหวานๆ โรยน้ำตาลไอซิ่ง poedersuiker อีกทีหนึ่ง ในคืนก่อนวันปีใหม่ คนดัชต์มักจะทานโอลี่บัลคู่กับแชมเปญเพื่อรับปีใหม่ (ชวนกันอ้วนแต่ต้นปีเลย)

appelflap อั๊บเปิ้ลฟลับ ขนมอีกชนิดหนึ่งที่มั่นใจได้ว่าเป็นดัชต์ โดยมักจะกินกันในช่วงเดียวๆกับ โอลี่บัล วิธีการทำก็คล้ายกันเพียงแต่ใส่แอบเปิ้ลเข้าไปในแป้งที่ทอด ใครชอบกล้วยหรือสับปะรดก็ใส่ลงไปทอดแทนได้ตามอัธยาศัย บางครั้งก็จะมีลูกเกดใส่ลงไปด้วยเช่นเดียวกัน

บางครั้งคุณจะพบว่าแอปเปิ้ลฟลับที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตามร้านขายขนมปังนั้น จะมีหน้าตาดีไปอีกแบบ คือเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายพาย แป้งกรอบร่วนและโรยน้ำตาลทราย นั่นก็คือแอปเปิ้ลฟลับ เพียงแต่แป้งที่ใช้ทอดไม่เหมือนกัน

stroopwafel สโตร้ปว้าเฟิ่ล หรือที่จริงๆแล้วเรียกว่า siroopwafel แต่ไม่มีใครเรียกกันอีกแล้ว พากันเรียกว่าสโตร้ปว้าเฟิ่ลกันถ้วนหน้า เป็นแป้งชิ้นกลมๆ สองชิ้นแบนๆ ที่นำมาประกบกันด้วยน้ำเชื่อมเหนียวๆที่อยู่ตรงกลาง ไม่มีอะไรเหมือนว้าเฟิ่ลของเบลเยี่ยม นอกจากลายบนชิ้นแป้งที่เป็นรูปตาราง(ว้าเฟิ่ลมาจากคำนี้เอง) เดิมนั้นผลิตกันในเมือง Gouda จึงได้ชื่อเรียกว่า goudsewafel แต่ปัจจุบันคุณหาซื้อกินได้ทั่วไปแม้แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือตามตลาดสดบางครั้งก็จะมีแบบสดๆร้อนๆมาให้ซื้อกินด้วย สโตร้ปว้าเฟิ่ลเป็นของฝากติดมือกลับเมืองไทยที่สะดวกดีและราคาไม่แพงอีกด้วย

tompoes ทอมปู้ส เป็นชื่อขนมหวานจำพวกเค้กที่ฟังดูคล้ายแมว มีทั้งทอม(แมวตัวผู้) และปู้ส (ตัวเมีย) แต่จริงๆแล้ว ทอมปู้สนั้นเป็นขนมที่ทำจากแป้งพายกรอบร่วน และสอดเป็นชั้นๆด้วยครีมหวานประมาณสามชั้น แบบบเดียวกับที่คุณกินในขนมเอแคลร์ ก่อนจะราดหน้าด้วยน้ำตาลเหนียวเป็นสีๆ แล้วแต่เทศกาล ปกติจะเห็นสีชมพูและสีขาว ในช่วงวันชาติหรือเทศกาลฟุตบอลอาจจะมีสีส้ม สีประจำชาติให้เห็นอีกด้วย ทอมปู้สมีหลายขนาด ทั้งขนาดปกติที่ใหญ่ประมาณหนึ่งนิ้วครึ่งคูณสามนิ้ว และสูงอีกประมาณสามนิ้ว หรือมินิทอมปู้สอันเล็กลงมา หาซื้อได้ทั้งในร้านขายขนมและในตู้แช่แข็งตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

chocoladeletter ขึ้นชื่อว่าช็อกโกแลตนั้น มาไม่ผิดที่แล้วเพราะฮอลแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงในการผลิตช็อกโกแลตแท่ง แต่ช็อกโกแลตรูปตัวอักษรนั้น เป็นของที่เฉพาะช่วงเทศกาล คือช่วงก่อนคริสมาสต์ จะมีเทศกาล Sinterklaas หรือ St.Nikolaas ที่เป็นคริสมาสต์แบบฮอลแลนด์ ช็อคโกแลตตัวอักษรย่อชื่อแรก มักจะเป็นของขวัญของกำนัลแก่เด็กๆ และแม้แต่ญาติมิตร มีทุกแบบทุกรส ตั้งแต่ช็อกโกแลตดำ puur ช็อกโกแลตนม ช็อกโกแลตขาว ทั้งแบบใส่ถั่วหลากชนิด ใส่ลูกเกดและแบบล้วนที่ไม่ใส่อะไรเลย

pannekoekพันเน่อะคุ๊ก หรือแพนเค็ก ที่กินกันอยู่ทั่วโลกนั้น ใครจะรู้ว่ามีต้นตำรับมาจากเนเธอร์แลนด์นี่เอง ปัจจุบันนี้คุณหาซื้อแป้งผสมสำหรับทำพันเน่อะคุ๊กได้ง่ายมากตามหิ้งส่วนผสมขนมอบในซุปเปอร์ทั่วไป แป้งเหล่านี้เพียงแค่เติมนม (และไข่) ตีให้เข้ากันก็ทอดออกมาเป็นของกินได้เร็วทันใจแล้ว พันเน่อะคุ๊กแบบดัชต์นั้น จะเป็นแผ่นใหญ่เท่ากระทะและบาง คนดัชต์นิยมกินพันเน่อะคุ๊กทั้งเป็นอาหารเช้า อาหารเที่ยง หรือแม้แต่อาหารเย็น โดยมีทั้งแบบหวาน คือใส่ผลไม้และแยมหรือโรยน้ำตาล ราดน้ำผึ้ง หรือทานกับไอศกรีมและวิปปิ้งครีม หรือแบบอาหารคาวโดยทานกับเบคอนและชีส

poffertjeพ้อฟเฟิร์ตเจ้อะ คือแพนเค็กนั่นเอง เป็นแป้งชนิดเดียวกัน แต่ทำให้สุกในรางที่เป็นรูกลมๆ เหมือนรางขนมครกของไทย ขนมแบบนี้ไม่มีใครนิยมเอามากินเป็นของคาว ส่วนมากจะกินเป็นอาหารหวานกับผลไม้ ครีม และไอศกรีม ถ้าทานเปล่าๆก็จะมีเนยมาเคียง โรยด้วยน้ำตาล poedersuiker ก็เป็นอันครบสูตรแล้ว พ้อฟเฟิร์ตเจ้อะนั้นมาจากประเทศฝรั่งเศสค่ะ

อาหารคาว

ในที่สุดก็มาถึงอาหารคาว เราจะมาเรียนรู้กันว่าคนดัชต์เขากินอะไรกันบ้างเวลาอยู่ที่บ้าน อาหารเหล่านี้ ในทุกวันนี้มีขายกันทั่วไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตแผนกอาหารไมโครเวฟ เหมาะสำหรับคนทำงาน ที่ไม่มีเวลาทำกับข้าว หรือพวกที่ไม่มีครัว แค่เอาใส่ไมโครเวฟพออุ่นก็เปิดฝากินได้ทันที คล้ายๆมาม่าของเรา อาหารของดัชต์นั้นก็เน้นส่วนผสมเป็นมันฝรั่งค่ะ

stamppot สตั๊มป์ผด หรือมันฝรั่งบดผสมกับผัก มีชื่อเรียกต่างกันไปตามผักที่มันผสมอยู่ เช่น stamppot andijvie, stamppot boerenkool, stamppot zuurkool เป็นต้น สตั๊มป์ผดมักรับประทานโดยใส่เบคอนลงไปผสมด้วย แล้วมีไส้กรอกอ้วนๆ ทานควบคู่กัน

hutspotฮึดซ์ผด คือ สตั๋มป์ผดนี่เอง แต่มีแครอทและหัวหอมเป็นส่วนผสม เห็นความแตกต่างได้จากสีของแครอท

Erwtensoepเป็นซุปข้นคลั่กๆ ที่มีส่วนผสมของถั่ว erwten อันเป็นที่มาของชื่อ มันฝรั่ง และไส้กรอก

champignon soepซุปเห็ด ที่ทำจากเห็ดชอมปิยองสีขาว (ไม่เหมือนซุปเห็ดภาคอีสานของไทยเด้อ) โดยส่วนมากจะเบสด้วยครีมและแป้ง จึงเป็นซุปข้นอีกเช่นกัน ทานแล้วรู้สึกอิ่ม


Top
© 2003-2021 Thai-Dutch.net All Rights Reserved
| Home | Europe Tour by Smiley | RianDutch | Facebook-Double Dutch | Copyright | Privacy statement