ธรรมเนียมสังคมดัชต์

ในที่สุดก็ได้อัพเดทหน้านี้เสียทีค่ะ ขอบคุณข้อมูลจากทุกๆแหล่งที่ผุ้ชมช่วยกันส่งเข้ามานะคะ เรามาเริ่มกันจาก

การนัดหมาย

ขึ้นชื่อว่าดัชต์ ก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศตะวันตกอื่นๆ ค่ะ การจะไปพบใครนั้น เราจะต้องนัดหมายไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ไม่เหมือนคนไทย ที่อยากจะไปหาใครก็โผล่ไปกดกริ่งหน้าประตูบ้าน หากเจ้าบ้านไม่อยู่ เราก็ไม่รู้สึกแย่อะไร หากว่าอยู่ก็จะได้พบปะ เข้าบ้านกินน้ำกินท่ากันไป ตามแต่จะหาอะไรมาเลี้ยงกันได้ แต่ที่นี่มันไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นอย่าแปลกใจที่คนดัตช์ทุกคนจะมีสมุดบันทึกเล็กๆ เรียกว่าอะเฆนด้า Agenda เอาไว้จดวันนัดหมาย (อะไรจะธุรกิจรัดตัวกันขนาดนั้น)

การนัดหมายนั้นจะขอแบ่งตามโอกาสและเจ้าภาพตามนี้ค่ะ

การนัดหมายอย่างเป็นทางการ เช่นการสัมภาษณ์งาน การไปร่วมงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่และอื่นๆ นั้น ตามธรรมเนียม เราควรจะไปให้ถึงสถานที่ก่อนสักสิบห้านาที (คุณจะเผื่อเวลาไว้เป็นครึ่งชม.หากยังไม่รู้เส้นทางก็ได้) เพราะการนัดเช่นนี้ ทางผู้นัดได้คาดหวังว่าจะพบเราแล้ว และมักจะไม่ค่อยต้องเตรียมการอะไรเพิ่มเติมอีก

การนัดหมายเพื่อไปทานอาหาร เช่นการไปทานอาหารที่บ้านนั้น คุณไม่ควรไปให้ถึงก่อนเวลา ตรงเวลาเป๊ะๆ หรือเลทไปห้านาทีสิบนาทีนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เนื่องจากเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมอาหาร แต่งตัว หรืออะไรอื่น การไปก่อนเวลา อาจจะทำให้เขากระอักกระอ่วนใจเพราะยังทำธุระของตัวเองไม่เสร็จ แต่ในขณะเดียวกันไม่ควรไปถึงเอาเลทมาก เพราะจะทำให้เขารอคอยด้วยความเป็นห่วงว่าจะมาหรือไม่มา หรือไปหลงทางอยู่ที่ใด และที่ขาดไม่ได้ คือมีอะไรติดมือไปด้วย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของราคาแพง ดอกไม้ หรือไวน์สักขวดเพื่อขึ้นโต๊ะอาหาร ก็จะเป็นที่ตื้นตันใจผุ้รับแล้ว

การนัดหมายให้มารับที่บ้านคุณเอง หรือนัดไปที่หนึ่งที่ใดเพื่อเดินทางต่อไปด้วยกันนั้น ก็ใช้หลักการเดียวกับการนัดอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการนัดมารับที่บ้านนั้น หากผู้ขับขี่ไม่รู้ทางแน่ชัด จะทำให้เสียเวลา เมื่อคุณเป็นฝ่ายที่ต้องขับขี่ ก็จะต้องเตรียมดูเส้นทางให้เรียบร้อยมั่นใจได้ หรือกรณีที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรอผู้มารับ ก็ควรจะได้เตรียมตัวให้เรียบร้อย ออกไปได้ทันที โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจอดรถรอนานหรือต้องลงไปจ่ายค่าที่จอดรถระหว่างรอ

การไปบ้านคนดัชต์โดยไม่นัดไว้ก่อนล่วงหน้านั้น ไม่แนะนำ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า หรือคนที่เราไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะไปเยี่ยมบ้านเพื่อนคนไทยด้วยกัน ก็ต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่า สามีหรือญาติมิตรของเขา อาจจะไม่สบายใจที่อยู่ดีๆ มีคนอื่นมาร่วมวงสนทนาในบ้านโดยเขาไม่ได้เตรียมตัวก่อน การขอนัดนั้น สะดวกที่สุดด้วยการโทรศัพท์ไปบอก และทั้งสองฝ่ายควรจะได้จดบันทึกไว้เพื่อความจำ คุณจึงควรจะมี Agenda เป็นของตัวเองไว้สักเล่ม เพราะการเยี่ยมเยียนคนรู้จักนั้นเป็นเรื่องปกติในสังคมการใช้ชีวิตที่นี่ แต่การไปพบใครโดยไม่ได้นัดนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ คนดัชต์จำนวนไม่มากนักอาจจะเห็นเป็นเรื่องน่าดีใจ และตื่นเต้น แต่กับอีกหลายๆคนนั้นไม่ใช่

ยกเลิกนัด เลื่อนนัด อย่าให้เป็น ผิดนัด

เมื่อเรานัดหมายได้ บางครั้งก็จำเป็นทีจะต้องยกเลิกนัดหมายนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่การยกเลิกนัดไม่ใช่โทรไปในเวลาที่นัดเอาไว้ หรือโทรไปหลังจากเวลานัด แต่เราต้องโทรไปแจ้งอีกฝ่ายทันทีที่เรารู้ว่าไปไม่ได้แน่แล้ว หากคุณมีนัดทานอาหารกับแม่สามี ในวันอาทิตย์หน้า แต่คุณมารู้เอาเมื่อวันพฤหัสว่าจำต้องไปเข้าค่ายกับทางโรงเรียน ก็ต้องโทรในวันพฤหัสนั้นเลย อย่าไปรอให้ถึงวันอาทิตย์ตอนเช้า เพราะอีกฝ่ายเขาจะได้วางแผนสำหรับวันที่ยกเลิกนัดนั้นได้ต่อไป โดยไม่เสียเวลาและความรู้สึก และหากถึงแม้คุณจะรู้ช้าไป ก็ยังจำเป็นต้องโทรไป ไม่ว่าจะหนึ่งชั่วโมงก่อนการนัดหมายก็ตาม เพราะอีกฝ่ายจะได้เตรียมการยกเลิกสิ่งต่างๆที่คิดจะทำไว้

การผิดนัดโดยไม่บอกล่วงหน้าเป็นเรื่องผิดมารยาทอย่างมากสำหรับคนดัชต์ ถึงแม้เราจะขอโทษตามหลังได้ ก็ถือว่าไม่สุภาพอยู่ดีค่ะ และการผิดนัดบางอย่างก็จะทำให้คุณเสียเงินไม่น้อย เช่นผิดนัดกะแพทย์ ผิดนัดกะทางสำนักงานกฏหมาย หรือแม้แต่องค์กรของรัฐบาล

การนำอาหารตัวเองไปทานในร้าน

ถึงแม้ว่าต่างชาติหลายๆประเทศโดยเฉพาะเบลเยี่ยม มักจะพูดถึงดัชต์ในทางความงก และการเสียมารยาทเอาอาหารตัวเองไปกินในร้านอาหารนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ชาวดัชต์ที่มีมารยาททั่วไป จะเข้าใจและยึดถือกฏข้อนี้เป็นอย่างดี การนำอาหารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำดึ่มขวด เข้าไปทานในร้านอาหารนั้น เป็นมารยาทที่คนมีการศึกษาทั่วไปจะไม่ทำกัน ร้านอาหาร เครื่องดึ่ม บาร์และคาเฟ่ในเนเธอร์แลนด์ มีกฏประจำอยู่แล้วว่า ลูกค้าและแขกที่มาใช้บริการนั้น ห้ามนำอาหารของตัวเองเข้ามาดึ่มกิน เพราะเขาถือว่าเป็นการเข้ามาใช้ที่นั่ง กันที่ลูกค้าคนอื่นของเขา แต่กลับไม่สั่งอาหารของเขา

หากคุณมีอาหารส่วนตัวมา ต้องรีบทานให้หมดก่อนเข้าไปนั่ง หรือเก็บไว้ทีหลัง คุณควรจะสั่งแต่อาหารของภายในร้านเท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขึ้นชั้นภัตตาคารหรือฟ้าสฟู้ดอย่างแม็คโดนัลด์ก็ตาม) เพราะฉะนั้นถ้าคุณพกอาหารของตัวเอง ควรใช้บริการม้านั่งตามปาร์ค ให้เรียบร้อยเสียก่อนจะเข้าไปในนั่งในร้าน เพื่อไม่ให้เป็นที่ติฉินของพนักงานเสิร์ฟในร้านและลูกค้าคนอื่นๆ ค่ะ อาหารในร้านนั้น คุณสามารถเช็คราคาได้จากเมนู บางครั้งแปะอยู่หน้าร้าน หรือบนโต๊ะอาหาร หากไม่มี คุณก็สามารถขอได้จากพนักงานเสิร์ฟโดยไม่น่าเกลียดอะไร หากว่าตัดสินใจแล้ว อาหารและเครื่องดึ่มจากร้านดังกล่าวราคาสูงเกินงบประมาณของคุณ คุณก็มีสิทธิเดินออกได้ก่อนสั่งอาหาร โดยไม่ถือว่าทำความผิดอะไรนะคะ

การไปร่วมงานมงคลสมรส Huwelijk

ถ้าคุณมาอยู่ในสังคมดัชต์ ก็คงไม่แคล้วว่าจะต้องมีโอกาสได้ไปร่วมงานหนึ่งงานใดในช่วงหนึ่งปีอย่างแน่นอน เรามาดูกันที่งานมงคลสมรสก่อน

การจัดงานแต่งงานนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆสำหรับคู่ชีวิตชาวเนเธอร์แลนด์ หลายคู่อยู่ด้วยกันจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จึงได้คิดที่จะจัดงาน เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมทางการเงินและเวลา (ตลอดจนถึงญาติมิตรก็จะต้องสะดวกในการมาร่วมงานด้วย) หลายๆคู่ จึงได้ประวิงเวลารออยู่ เมื่อจะมีการจัดงานอย่างเป็นทางการแล้ว งานนั้นจึงจะต้องออกมาดี และผู้ที่ได้รับเชิญไปร่วมงานก็ควรจะให้ความร่วมมือกับเจ้าภาพด้วย เรามาดูกันที่การแต่งกาย

หากจะถามว่าแต่งตัวอย่างไรดีไปงานแต่งงานนั้น คำตอบที่เป็นสากลทั่วโลกก็คือแต่งกายให้สุภาพไม่โอเว่อร์และไม่เด่นไปกว่าเจ้าของงาน) ถ้าจะให้ระบุไปว่าอย่างใดไม่ควรแต่ง คิดว่าผุ้อ่านคงจะนึกภาพเหล่านั้นออกในใจแล้ว คุณย่อมรู้จักเจ้าบ่าวเจ้าสาวพอสมควรก่อนที่เขาจะมาเชิญไปร่วมงาน จึงสามารถจะเดาได้ว่าควรจะแต่งตัวไปในแนวใดดี คู่สมรสวัยหนุ่มสาวนั้น อาจจะไม่รังเกียจหากว่าคุณจะใส่ยีนส์ไปร่วมงานพิธี แต่ใส่เสื้อที่สุภาพและดูดี ในหน้าร้อน ผู้ร่วมงานหลายคนอาจจะใส่รองเท้าสาน เพื่อความสบายของตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ดูซอมซ่อเมื่อประกอบเข้ากับเครื่องแต่งกายอื่นๆ โดยคุณเองต้องดูสถานที่จัดงานให้เหมาะสมด้วย หากเขาเชิญเข้าร่วมพิธีใน gemeentehuis การลากรองเท้าแตะ จึงไม่เป็นการเหมาะสม หากเขาจัดงานในเวลาสาย การแต่งหน้าเข้มและใส่สุดที่ปักดิ้นแพรวพราว สำหรับไปงานกลางคืนก็ย่อมจะดูผิดกาละเทศะไป ส่วนสีของชุดนั้น สีดำหรือเทาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขึ้นอยู่กับแบบ

การไปงานแต่งงานนั้น คุณไม่ควรจะคาดหวังอาหารมื้อที่อิ่มท้องเหมือนงานเลี้ยงโต๊ะจีนที่เมืองไทย เพราะงานมงคลสมรสของดัชต์ ตามปกติแล้ว หลังจากพิธีที่เป็นทางการ (ไม่ว่าจะในโบสถ์หรือที่ทำการอำเภอ) แล้ว ก็จะไม่ค่อยมีเลี้ยงอะไรนอกจากอาหารว่างเล็กน้อย และเครื่องดึ่มเพื่อการพูดคุยกันของแขกเหรื่อผู้มาร่วมงานและกับญาติมิตรของฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาว ซึ่งปกติก็จะไม่ได้เจอกันบ่อย บางครั้งอาจมีงานเลี้ยงต่อรอบค่ำ ซึ่งก็จะเลี้ยงเครื่องดึ่มและมีอาหารว่างนิดๆหน่อยๆ เท่านั้น ไม่ใช่ล้อมโต๊ะจีนแล้วกินกันจนอิ่มไปถึงอีกวันหนึ่ง หากคุณได้รับเชิญไปงานแต่งงานของคนดัชต์ ควรจะทานอาหารไปก่อนให้เรียบร้อย หรือถ้าไม่แน่ใจ ดูจากในการ์ดเชิญว่าเขาแจ้งว่าจะมีการจัดเลี้ยงอาหารหรือไม่

ของขวัญงานแต่ง การใส่ซอง ไม่ใช่จะมีแต่ในงานแต่งงานคนไทยเท่านั้น งานของคนดัชต์ก็มีการใส่ซอง แต่สำหรับคนที่สนิทกับฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวแล้ว บ่อยครั้งญาติมิตรจะทำลิสต์สิ่งที่คู่บ่าวสาวจำเป็นในการสร้างชีวิตด้วยกันออกมา แล้วให้เพื่อนๆ ญาติๆ มาเลือกดูกันว่าจะเลือกซื้ออะไรให้เป็นของขวัญเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน และคู่เจ้าของงานสามารถเอาไปใช้ในบ้านใหม่ด้วยกัน หรือหากไม่เป็นอย่างนั้น คุณก็เลือกที่จะให้เงินใส่ซองพร้อมการ์ดอวยพรได้ โดยปกติแล้วเขาจะให้กันตามสะดวก ไม่ได้บังคับว่าจะต้องให้เป็นจำนวนเงิน ยี่สิบ ห้าสิบยูโรแต่อยู่ที่ความสนิทของแขกเอง บางคนไม่สนิทมากอาจจะให้กันสิบยูโร หรือญาติสนิทอาจให้กันได้ถึงห้าร้อยยูโร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของคุณเอง การไปงานมงคลสมรสกับคู่หมั้นหรือคู่สมรส คนส่วนมากจะเตรียมเงินไปประมาณ 20-50 ยูโรเพื่อช่วยค่าจัดงานและเป็นทุนเล็กๆน้อยๆ ให้กับคู่สมรสต่อไป

การไปร่วมงานศพ Begrafenis

งานศพ เป็นงานที่ไม่มีใครอยากไป เพราะบรรยากาศความเศร้าสลด แต่เมื่ออยู่ในเนเธอร์แลนด์ มันก็จะต้องมีสักครั้งที่คุณต้องไปร่วมงานศพของใครสักคน แม้ว่าจริงๆแล้ว งานศพจะไม่ใช่แค่การฝังศพ (ฮอลแลนด์มีที่เผาศพ เพียงไม่กี่ที่เท่านั้นค่ะ ไม่ได้มีอยู่ทั่วทุกเมือง ทั่วประเทศ) งานศพ เรียกอีกอย่างว่า uitvaart เนื่องจากคนดัตช์หลายเปอร์เซ็นต์ยังคงนับถือศาสนาคริสต์อยู่ งานศพส่วนใหญ่จึงเป็นงานฝังศพ เมื่อมีใครเสียชีวิตในเนเธอร์แลนด์ สิ่งแรกที่สมาชิกในครอบครัวทำ ก็คือต้องโทรบอกแพทย์ประจำบ้านให้มาชันสูตร คือลงความเห็นว่าผู้ตาย เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด เวลาใด (ถ้าเป็นการเสียชีวิตแบบธรรมชาติ) หลังจากนั้น หมอประจำตัวผู้เสียชีวิตก็จะแนะนำชื่อผู้จัดการงานศพ uitvaartondernemer ซึ่งเขาจะมาทำหน้าที่ดูแล ตั้งแต่การนำศพไปเก็บรักษาตามที่ญาติต้องการ บางคนทีต้องการจะตั้งศพไว้ที่บ้าน ก็จะมีการตกลงจัดการให้เรียบร้อยเสร็จสรรพ ตั้งแต่ทำความสะอาดศพ เช็ดตัว โดยญาติพี่น้องจะเป็นผู้เข้าช่วย แต่งตัวใหม่ให้ จัดท่า (ทุกอย่างนี้ต้องทำในขณะที่เพิ่งเสียชีวิต - อย่าลืมว่านี่คือกรณีที่เสียชีวิตตามธรรมชาติ มิได้โดนฆาตกรรมมา หรืออุบัติเหตุ) ทางเจ้าหน้าที่ เขาจะมาทันทีที่โทร ไม่ว่าจะดึกดึ่นค่ำคืนขนาดไหนก็ตาม เช่นเดียวกับแพทย์

หลังจากนั้น ญาติใกล้ชิดจะต้องเลือกโลงศพที่จะใช้ โดยส่วนนี้ไม่ใช่ราคาน้อยๆ ด้วยค่ะ ดังนั้นหลายบริษัทประกัน จึงมีข้อเสนอ Uitvaartverzekering สำหรับผู้สูงอายุ และแม้แต่คนหนุ่มสาว โดยแนะนำให้เริ่มสะสมเงินประกันตั้งแต่อายุน้อย จะได้ไม่มีปัญหาการเงิน เมื่อตนเองเสียชีวิต เรามาต่อกันค่ะ เมื่อการเตรียมการเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะช่วยประสานงานทุกอย่างไปจนถึงการเลือกที่ฝังศพ และการเช่าพื้นที่ค่ะ เพราะหลุมฝังศพนี้ ไม่ใช่การซื้อที่ดินแต่เป็นการเช่าที่ดินจากรัฐบาล เป็นเวลา 15 ปี และหากจะเช่าต่อ หรือดำเนินการอย่างไร ก็จะต้องติดต่อ Gemeente ส่วนการรับผิดชอบนี้ต่อไปค่ะ

ระหว่างนี้ เจ้าภาพงานศพ จะต้องออกการ์ดเชิญ Rouwkaarten ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคอยช่วยให้คำแนะนำ และประสานงานการเคลมประกัน ประสานงานไปตามความต้องการใน Wilsbeschikking ของผู้ตาย หากว่ามี และการติดต่อกับทุกฝ่าย ไปด้วย จนถึงวันงาน ศพผู้ตายจะถูกบรรจุใส่โลงศพสวยงาม เดินทางในรถยนต์ขนาดยาวที่ใช้ขนศพโดยเฉพาะไปยังที่ฝังศพ ขบวนก็จะประกอบด้วยรถยนต์ของบรรดาญาติมิตร ตามกันไปเงียบๆ ขับไม่รีบ เพราะทุกคนก็อยากจะยืดเวลา ที่ยังเหลือนี้ให้ยาวที่สุด เมื่อไปถึงสถานที่ เขาจะเชิญศพไปยัง Aula ห้องประชุมที่ญาติมิตรเพื่อนร่วมงานจะได้กล่าวอาลัยถึงผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ในบางครอบครัวก็จะมีดนตรี และสไลด์โชว์ถึงผู้ตาย ทุกคนจะนิ่งเงียบ เพื่อส่งความระลึกถึงผู้ตาย

หลังจากนี้ญาติใกล้ชิดที่เป็นผู้ชาย (ที่เป็นผู้ชายก็เพราะโลงศพนั้นหนักนะคะ ไม่ใช่เบา) ญาติและเพื่อนที่ทำหน้าที่แบกโลงบรรจุศพก็จะค่อยๆเคลื่อนขบวนไป บ้างก็มีดนตรีบรรเลง ไปจนถึงจุดที่เป็นหลุมฝังศพ เขาจะค่อยๆ หย่อนโลงศพลงในหลุมศพ ด้วยการค่อยๆ ปล่อยปลายเชือกค่ะ เชือกนี้เรียกว่า Rouwstoet ระหว่างนี้ก็อย่างที่หลายๆคนเห็นในภาพยนตร์นะคะ บาทหลวง ก็จะมาพูดเพื่อให้กำลังใจแก่ญาติมิตร เพราะนี่จะเป็นการอำลาครั้งสุดท้าย แล้วเมื่อโลงศพลงสู่พื้นดิน ผู้ร่วมงานก็จะมีโอกาสได้นำดอกไม้ และดินไปใส่ในหลุมศพค่ะ เมื่อเสร็จเรียบร้อยทุกคนก็จะกลับไปยังห้องโถงเลี้ยง ที่มีชากาแฟและขนมของว่างรอรับแขก แขกทีมาร่วมงานจะกล่าวคำ Gecondoleerd กับญาติมิตรของผู้เสียชีวิต แล้วก็จะมีการแจกของที่ระลึกในงานศพกับผู้ที่มาร่วมงานอีกครั้ง หลายๆ คนก็จะได้นำซองที่เตรียมไว้ออกมาให้แก่เจ้าภาพค่ะ เช่นเดียวกับงานแต่งงานนะคะ การช่วยเหลือทางด้านการเงิน แต่เจ้าภาพ ไม่มีข้อบังคับตายตัวค่ะ นอกจากการให้เงินแล้ว มิตรสหายหลายๆคนก็จะช่วยเหลือด้วยการหมั่นโทรศัพท์มาถามทุกข์สุข และเสนอการนัดหมายเพื่อไปเยี่ยมหลุมศพหลังจากงานครั้งนี้ แล้วเมื่อแขกทะยอยกลับ งานก็เสร็จค่ะ แต่สำหรับเจ้าภาพนั้นเขาจะกลับไปที่หลุมศพอีกครั้ง เพื่ออยู่ดูสัปเหร่อและเจ้าหน้าที่ เป็นผู้กลบดิน หลังจากนั้นประมาณร้อยวัน ญาติสนิทผู้ตายก็จะนำหินหลุมฝังศพมาวางได้ค่ะ


Top
© 2003-2021 Thai-Dutch.net All Rights Reserved
| Home | Europe Tour by Smiley | RianDutch | Facebook-Double Dutch | Copyright | Privacy statement